
เปรียบเทียบเครื่องบดกาแฟจาก 5 แบร์น
หลังจากที่ผมตกลงและตัดสินใจที่จะนำ เครื่องบดกาแฟ Compak เข้ามาจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แล้วนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทดสอบเพื่อจะได้รู้ว่าเครื่องบด compak นั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ในครั้งนี้ผมได้ชักชวนคุณหมอพร เข้ามาทดสอบ กันด้วย โดยที่คุณพรก็ไม่ลืมยกเจ้า Eureka MDL ตัวเก่งมาด้วย และ ยังติด เครื่องบดมือ Zassen haus มาด้วย งานนี้เราเลยมีเครื่องบดกาแฟเพียบ จากคราวที่แล้วที่เราเคยทดสอบกันระหว่าง Flat burr กับ Conical กันแล้วนั้น ตอนนี้ เราเลยมีโอกาสได้ทดสอบระหว่าง Flat burr VS Flat burr และ Conical VS Conical กันด้วย และเนื่องจากเครื่องบดในครั้งนี้แต่ละตัวเป็นเครื่องบดใหม่ ๆ กันทั้งนั้น เลยไม่มีใครได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบกันในเรื่องความคมของใบมีดแล้ว

ในวันนี้เราเลยมี เครื่องบด กันเกือบ 5 ตัว คือ

1. Mahlkoenig K30es Vario
2.Compak K10 WBC
3.Eureka MDL
4.Zassen haus
5.Compak K3 touch
โดยได้เครื่องชงที่ใช้ในการชงกาแฟคือ CREM G10 multi boiler และ กาแฟหลักที่ใช้ทดสอบคือ Ethiopia Harar เป็นกาแฟที่ใช้ในการทดสอบกันครับ เนื่องจาก กาแฟตัวนี้ มีความโดดเด่นในเรื่องของ ความซับซ้อน และ เป็น Dry Process ซึ่งมีรส และ ลักษณะเฉพาะอยู่มาก
คราวนี้เรากำหนดอุณหภูมิกันไว้ ที่ 94 c. โดยเริ่มจาก Eureka MDL ก่อน ผลที่ได้จากกาแฟที่ผ่านการบดจาก MDL ยังเหมือนเดิม คือให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล แต่หนักแน่น มีิความรู้สึกเป็นเนื้อ จากการสัมผัสที่ลิ้นได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ ลักษณะเด่นของกาแฟ Dry Process ยังคงชัดเจน และ เป็นเอกลักษณ์อย่างดี และในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน กลิ่นผลไม้สุกประเภท บลูเบอร์รี่ ก็ลอยขึ้นโพรงจมูก โดยมีกลิ่นดอกไม้อ่อน ๆ ซึ่งไม่ชัดเจนเท่ากาแฟจาก Yirgachaffe ติดท้ายจากการหายใจออก ผลสรุปคือ เครื่องบดกาแฟแบบ Conical นั้นยังคงทำหน้าที่ได้ดีเช่นเดิม
จากนั้นเราก็มาบดกาแฟจากเครื่องบดกาแฟตัวต่อมาซึ่งก็คือ Compak K10 WBC ซึ่งเป็นเครื่องบดแบบ Conical รอบต่ำเพียง 340 รอบ โดยจะเห็นได้ชัดว่ากาแฟจะออกมาช้ากว่าตัวเมื่อกี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่า Compak ทำได้ดีมาก ๆ กับเครื่องบดตัวนี้คือ Doser และ ชุดเฟืองบดตัวบน ที่มีหน้าที่ในการปรับความละเอียดแบบ Stepless นั่นเอง คือ ชุดอุปกรณ์ที่เป็นตัวปรับและคอเฟืองตัวนี้ เป็นอลูมินั่มหล่อ และ ขัดมันเก็บงานมาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังปรับปรุงการล๊อคการเคลื่อนที่ของเกลียว ด้วยหมุดยึดจากด้านบน แทนที่ การยึดจากด้านข้าง แบบเดิม ๆ และ Doser ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่ สัมผัสกับผู้ใช้มากที่สุด ก็ออกแบบมาอย่างดี โดยใช้วัสดุที่แข็งแรงทุกชิ้นส่วน ง่ายต่อการทำความสะอาด และ ยังปล่อยผงกาแฟจาก Doser มายัง Portafilter ได้ตรงไม่เลอะเทอะ ซึ่งผมต้องการทดสอบว่าจริงอย่างที่คุณพรว่าไว้หรือไม่ ก็เลยทดสอบดึงผงกาแฟให้ร่วงลงถาดรองผงกาแฟเล่น โดยผมดึงก้านปัดผงกาแฟ อย่างเร็วและแรง เสมือนการทำงานโดยปรกติในบาร์ และผลที่ได้ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ อย่างที่คุณพรว่าไว้ ถ้าดูในรูปจะเห็นว่า ผงกาแฟนั้นจะกองพูนขึ้นตรงกลางจริง ๆ

ไว้ผมจะมาเล่นกับเจ้า Compak K10 WBC จริง ๆ จัง ๆ อีกที โดยจะถอดอุปกรณ์ภายในมาดูกันเลยครับ แต่คราวนี้ มาพูดถึง กาแฟที่บดและชงผ่านเจ้าตัวนี้ ว่าเป็นไง ... ผลปรากฎว่า espresso ที่ได้มานั้น คล้ายและเหมือนกาแฟจาก MDL มาก ความแตกต่างผมแทบไม่ค่อยรู้สึก แต่ช่วงที่ทำตัวนี้นั้น ผมก็มีธุระอื่นเหมือนกัน ทำให้สมาธิเสียไปพอสมควร จึงไม่สามารถแยกความต่างได้อย่างชัดเจน คงต้องให้คุณพร หรือ คุณเต้ย มาขยายความรู้สึกอีกที
และแน่นอน ตัวต่อมา ก็เป็น Mahlkonig K30es ตัวเดิม คราวนี้เอสเพรสโซ่ที่ชงออกมานั้น ต่างกัน จนแทบจะนึกว่าเป็นกาแฟคนละตัวเลยทีเดียว เพราะถ้าชงออกมาในเวลาที่ได้พอ ๆ หรือ เท่า ๆ กับ เคริ่องบดกาแฟแบบ Conical นั้น จะรู้สึกว่า กาแฟจะ Sharp และ กระจ่าง เบากว่า ไม่หนักแน่น หรือ เป็นมวล (Round) แบบ Conical แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นแบบ Flat Burr ที่ Conical ให้ไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งความเห็นผมนั้น คิดว่า ถ้าได้ปรับกาแฟให้ละเอียดขึ้นอีกนิด เอสเพรสโซ่ที่ได้น่าจะ ได้ Body ที่ดีกว่านี้
แต่ที่ทำให้ตกใจไปเหมือนกันในครั้งนี้ก็คือ กาแฟที่ผ่านการบดจาก เครื่องบดกาแฟ Compak K3 Touch นั้น ให้ผลใกล้เคียงกาแฟที่ได้จาก Mahlkoenig พอสมควร อาจจะด้อยกว่าบ้างก็ในเรื่องของความ กระจ่าง และ Flavor ที่ได้จาก K30 es นั้นชัดเจนกว่า K3 touch อยู่เล็กน้อย แต่เมื่อมาดูเจ้า Compak K3 touch ใกล้ ๆ ว่าเป็นเครื่องบดกาแฟแบบใหนกันแน่ เพราะหน้าตาแปลก เหลือเกิน ..
Compak K3 Touch นั้นถูกออกแบบมาให้ เป็นแฝดของ Compak K3 Elite ต่างกันก็ตรงที่ Elite เป็นเครื่องบดที่มี Doser เหมือนปรกติทั่ว ๆ ไป แต่ K3 Touch นั้น ถูกออกแบบมาให้เป็นแบบ Grind on demand โดยสามารถตั้งเวลาให้กาแฟบดออกมาได้ปริมาณที่เราตั้งการได้แบบ Single shot เท่านั้น ถ้าหากต้องการแบบ Double shot ก็แค่กดสวิทช์อีกครั้ง เพราะวงจรที่ใช้กับตัวนี้เป็นระบบ ง่าย ๆ โดยที่ K3 touch ไม่ลืมที่จะมี สวิทช์บดกาแฟต่อเนื่องติดมาด้วย ดูเหมือนจะใช้ยากสำหรับเจ้า K3 Touch แต่ถ้ามองถึงราคาค่าตัวที่ห่างกับ K30es อยู่หลายเท่าตัว ทำให้ K3 Touch ดูน่าสนใจขึ้นโดยทันที ซึ่ง K3 ทั้งสองรุ่นนั้น ใช้เฟืองบดขนาด 58 mm. ปรับความละเอียดของผงกาแฟได้อิสระ (Stepless) ถือเป็นเครื่องบดขนาดกลางที่ไม่เลวเลยทีเดียว
ทดสอบกันไปหลาย ๆ เที่ยว เผลอกลืนไปก็เยอะ เริ่มเมา ๆ คาเฟอีน กันแล้ว เราเลยออกกำลังกายกัน ด้วยการมาบดกาแฟโดย ใช้แรงคนหมุน เจ้า Zassen haus ได้หอบกันไปหลายแฮ๊ก กว่าจะได้ 2 shot ... ไม่รู้เพราะเหนื่อยหรือ เพราะ มึนกันแน่ แต่กาแฟที่ได้จาก Zassen haus ตัวนี้ ดีเหลือเชื่อ !!!! จากกาแฟตัวเดียวกัน เวลาเท่า ๆ กัน ตอนแรก ๆ ที่ชิมไปจากเครื่องบดที่ผ่านมานั้น กาแฟจะมีติด Bitter มาเล็กน้อยมาก ซึ่งผมก็คิดอยู่ในใจว่า คงมาจากการคั่วเข้มของผม ซึ่งตั้งใจจะคั่วไว้ใช้กับ Espresso Blend แต่ผลจากการบดของZassen haus เรียกได้ว่า แทบไม่มี Bitter ติดมาเลย กลายเป็นว่า งานนี้ เรียกกันได้ว่า " Simple is the best " จริง ๆ ว่าไปอะไรๆก็ดีอยู่สำหรับเครื่องบดมือหมุนตัวนี้ เสียอย่างเดียวคือ ใช้ยาก ไปหน่อย
ถึงวันนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า ใบมีดของเครื่องบดนี่ ปล่อยไว้ไม่ได้เลยจริง ๆ เพราะความอร่อยของกาแฟนี่ มาจากเรื่องนี้เป็นหลักเลยทีเดียว จะเครื่องบดอะไรก็ตามในเวลานี้ คงจะไม่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนเกินไปนัก ถ้าอยู่ในระดับ เดียวกัน จะต่างกันก็เครื่องรูปร่าง และ ความแข็งแรง และ ความน่าใช้ซึ่งผมถือว่าสำคัญมากในเรื่องนี้
ช่วงท้าย ๆ เราเลยได้มาเล่น เครื่องชง G10 multi boiler กันมากขึ้น ได้ลองสตรีมนม เท Latte Art กันหลายแก้วอยู่ นอกจาก shot กาแฟที่ได้จากเครื่องนี้ซึ่งนิ่งมากแล้ว ผมยังพบข้อดีของก้านสตรีม แบบ " ไม่ไหม้มือ " หรือ " No burn " อีกด้วย
สิ่งหนึ่งก็คือ หลังจากที่สตรีมแล้ว ปรกติจะมีนมเกาะอยู่ที่ก้านจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว และถ้าเอาผ้าแห้งไปเช็ดนั้น ก็จะทำให้คราบนมแห้งติดก้านเลย แต่สำหรับก้านสตรีมแบบ No burn นั้น กลับง่ายต่อการเช็ดทำความสะอาดหลังสตรีมมาก เพราะผ้าแห้งก็เช็ดได้สบาย ๆ ไม่มีคราบนมแห้งไหม้ติดก้านเป็นคราบขาว ๆ เพราะความที่ก้านด้านนอกไม่ร้อนนั่นเอง เลยทำให้ เป็นมิตรกับ Barista มากขึ้นครับ